ตามประวัติความเป็นมาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยนั้น ปรากฏว่าก่อนที่จะมีการก่อตั้งที่ประชุมแห่งนี้ขึ้นอาจกล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต คือ รัฐบาลในขณะนั้นกำลังดำเนินการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ต้องการให้มีการจัดรูปงานและองค์การของราชการเสียใหม่ให้มีหน่วยงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของคณะรัฐบาลได้เสนอให้โอนมหาวิทยาลัยทั้งหมดไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจวบกับขณะนั้นได้มีกิจการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขึ้น และมีปัญหาอยู่ไม่น้อย เหตุดังกล่าวจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หันมาให้ความร่วมมือแก่กันมากขึ้น ในการจัดตั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยนั้น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ยกร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นข้อตกลงว่าด้วยการประชุมอธิการบดี พ.ศ. 2515 ขึ้น เมื่อร่างเสร็จจึงมีการจัดประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม 2515 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมได้ลงมติรับรองข้อตกลงดังกล่าว และได้มีการลงนามในข้อตกลงโดยผู้แทนจาก 12 สถาบัน คือ

วันที่ 29 มกราคม 2515 จึงเป็นวันที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินงานงานของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ในวันนี้ที่ประชุมได้ตกลงเลือกให้ ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ สรเทศน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นเลขานุการฯ สมาชิกสถาบันที่เริ่มต้นลงนามในข้อตกลงครั้งแรกมี 12 สถาบัน ในภายหลังได้ขยายเพิ่มเป็น 16 สถาบัน และปัจจุบันที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีสมาชิกทั้งสิ้น 34 สถาบัน ที่ประชุมอธิการบดีมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Rectors Conference ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Council of University Presidents of Thailand เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของอธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะมีการประชุม พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ในการประสานงานกันระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น เสนอความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอุดมศึกษาของประเทศ และผลักดันความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นให้เกิดผล
บทบาท
ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงว่าด้วยการประชุมอธิการบดีฯ พ.ศ. 2515 ข้อความในข้อ 3 ระบุว่า ที่ประชุมอธิการบดีทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และติดต่อประสานงานที่อยู่ในขอบข่ายความสนใจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆที่เข้าร่วมในข้อตกลง ที่ประชุมนี้ไม่เป็นองค์กรทางการเมือง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2522 (ในการประชุมครั้งที่ 6/2522) ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนและกำหนดบทบาทของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดังนี้
- ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นแหล่งประสานงานส่งเสริมความช่วยเหลือ และการพัฒนามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น การพัฒนาบุคลากร การร่วมมือพัฒนาคุณภาพ และคุณวุฒิอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยไม่ดำเนินการซ้ำซ้อนกับงานของทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันคือ สกอ.)
- ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นองค์กรกลางระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ช่วยแนะนำให้คำปรึกษาแก่ทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐบาลหรือแสดงท่าทีในด้านต่างๆ ให้รัฐบาลได้รับทราบ
- ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นองค์กรกำหนดนโยบายในลักษณะการกำหนดท่าที หรือความคิดเห็นกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นผลประโยชน์หรือปัญหาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาล ส่วนเรื่องใดทำได้เองก็ร่วมมือร่วมใจให้
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรอิสระไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือ ความคิด การสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวกับกิจการอุดมศึกษาของประเทศที่เป็นความสนใจร่วมกัน การดำเนินงานจะมุ่งที่ความคล่องตัวและยึดหลักความเป็นอิสระของแต่ละสถาบัน หลีกเลี่ยงไม่ให้มีการดำเนินงานซ้ำซ้อนกับทบวงมหาวิทยาลัย แต่จะเสริมและสนับสนุนกัน เพื่อประโยชน์โดยส่วนรวมของการอุดมศึกษาของประเทศ บทบาทของที่ประชุมอธิการบดีฯนั้นจึงขึ้นอยู่กับบทบาทของมหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิกเป็นหลักสำคัญ
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
- เป็นองค์กรในลักษณะที่เป็นองค์ประชุมหรือที่ประชุม
- ประกอบด้วย อธิการบดี และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิกอีกแห่งละ 2 คน อีกส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีฯ ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน
- ปัจจุบันมีสมาชิกในที่ประชุมทั้งสิ้นจาก 35 สถาบัน
สำนักเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
- ในอดีตสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้รับความเอื้อเฟื้อจากทบวงมหาวิทยาลัย โดยให้กองวิชาการเป็นหน่วยช่วยอำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนการบริการ ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีฯตั้งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
- รับผิดชอบดำเนินงานธุรการ งานประสานงานการจัดประชุม จัดทำรายงานการประชุม และปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ที่ประชุมมอบหมายให้จัดดำเนินการ หรือดำเนินการตามมติของที่ประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลตามมติของที่ประชุม โดยดำรงตำแหน่งมีวาระ 4 ปี
- ด้านเลขาธิการนอกจากทำหน้าที่เลขาธิการที่ประชุมแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกของกองทุนที่ประชุมอธิการบดีฯ (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2516) มีหน้าที่จัดทำรายงานการเงิน และเสนอบัญชีการเงินของกองทุนที่ประชุมอธิการบดีฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี
การประชุมของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
- มีข้อกำหนดให้ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเรียกประชุมเป็นประจำอย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้ง
- ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 1 ปี และให้แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิกเป็นรองประธานอีก 2 คน
- การจัดประชุมจะจัดในมหาวิทยาลัยต่างๆ หมุนเวียนกันไปตามลำดับอักษร หรือตามตกลงกันในที่ประชุม โดยให้แต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบันผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แต่การจัดประชุมในมหาวิทยาลัย/สถาบันในต่างจังหวัดให้จัดได้เพียงปีละ 1 ครั้ง
- ในปี พ.ศ. 2524 ได้มีข้อตกลงเพิ่มเติมให้อธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานในปีต่อไป เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งแรกประจำปีนั้น ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ให้คงไว้ตามเดิม
องค์ประชุม
- ประกอบด้วยอธิการบดี/หรือผู้แทนในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจมาเข้าร่วมประชุมได้ และผู้แทนสมทบอีก 2 คน
- หากมีการออกเสียงให้แต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบันออกเสียงได้เพียงแห่งละ 1 เสียงเท่านั้น
- ถ้ามีการอภิปราย หรือลงมติในเรื่องสำคัญๆ จะต้องมีอธิการบดีเข้าประชุมเกินกว่าครึ่งหนึ่งของอธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันทั้งหมด หากไม่ครบก็ไม่อาจตกลง หรืออภิปรายเรื่องสำคัญนั้นได้ ต้องเลื่อนการพิจารณาวาระสำคัญนั้นออกไป
ระเบียบวาระการประชุม
- มหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิกทบวงมหาวิทยาลัยสามารถเสนอเรื่องให้คณะทำงานที่ประชุมอธิการบดีฯ เป็นผู้กลั่นกรองเรื่องและให้เลขาธิการรวบรวมจัดทำเป็นระเบียบวาระการประชุมสามัญ ส่งเวียนถึงผู้เข้าร่วมประชุมก่อนวันจัดการประชุมสามัญ 7 วัน
การเงินของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
- ในปี พ.ศ. 2516 ได้มีการริเริ่มการจัดตั้งกองทุนที่ประชุมอธิการบดีให้เป็นกองทุนรวม และให้เลขาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก
- ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการออกระเบียบว่าด้วยเงินทุนที่ประชุมอธิการบดีฯ พ.ศ. 2519 ขึ้น และมีสมาชิกส่งเงินสมทบในกองทุนแห่งละ 5,000 บาทต่อปี
- ปี พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนแปลงเป็นแห่งละ 10,000 บาท
- ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงเป็นแห่งละ 40,000 บาท
ปฏิญญาว่าด้วย พันธกิจและสถานภาพของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในศตวรรษใหม่
ประกาศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2542
ในการประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2542 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
——————————————-
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันกำหนดพันธกิจและสถานภาพขององค์กรดังต่อไปนี้
- ทปอ. จะเพิ่มบทบาทการชี้แนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาล และชี้นำชุมชนและสังคมในการแก้ไขปัญหาพัฒนาและ สร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนและสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยเพื่อมุ่งสู่การพึ่งพาตนเองบนฐานวัฒนธรรมไทยและด้วยสัมพันธภาพที่ดีกับนานาประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี
- ทปอ. จะเร่งสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการของแต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบันและดำรงอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย โดย
-
- 2.1 สร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการ ที่มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ทั้งด้านการเงินการคลัง วิชาการ และบุคลากร
-
- 2.2 ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านการวิจัย การบริการวิชาการ การประกันคุณภาพการศึกษา การเรียนการสอน การเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบัน การแลกเปลี่ยนบุคลากรและนิสิตนักศึกษา และความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ เป็นต้น
- 2.3 ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกันเพื่อความประหยัด และการเพิ่มประสิทธิภาพ
-
- ทปอ. จะดำเนินกิจกรรมร่วมกันในโครงการพิเศษอื่นๆ เพื่อส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัย ในด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย และการส่งเสริมการกีฬา รวมทั้งกิจกรรมเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรี สันติภาพ และสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในชาติและในประชาคมโลกด้วย
- ทปอ. จะสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับรัฐบาล สังคมและชุมชน เพื่อปฏิบัติภาระกิจในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสังคมยุคใหม่ ให้เป็นสังคมความรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร และชุมชน
